รวมท่ายืด ออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?
...ป้องกัน และแก้ไขได้อย่างไรบ้าง?

หากคุณทำงานประจำที่ออฟฟิศ เชื่อว่าพอทำงานมาถึงจุดหนึ่ง อาจต้องประสบกับปัญหาของการเป็นออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ไปตาม ๆ กัน ที่น่ากลัวก็คือ เกิดขึ้นในผู้คนหลายวัย ไม่ใช่แค่คนที่มีอายุมากเท่านั้น หากคุณคือหนึ่งในนั้น บทความนี้เราอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักให้มากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วออฟฟิศซินโดรมคืออะไร และมีวิธีป้องกันและแก้ไขได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้ถึงที่มา ป้องกันและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

การทำงานในออฟฟิศ ผู้คนมักจะต้องนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดกัน และต้องนั่งอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่น่าจะเป็นอันตรายได้ แต่จริง ๆ แล้ว หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ไลฟ์สไตล์เช่นนี้อาจส่งผลเสียขั้นรุนแรงสำหรับกล้ามเนื้อหรือกระดูกสันหลังของคุณได้เลยทีเดียว จากผลสำรวจของ กรมอนามัย พบว่าคนไทย 60% เคยมีอาการของออฟฟิศซินโดรมมาก่อน 

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คืออะไร?

ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คือโรคชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากรูปแบบของการทำงานที่มีการใช้กล้ามเนื้อเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน จนทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังที่บริเวณคอ บ่า ไหล่ เอว และข้อมือ จนมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรืออาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นมีอาการชาที่บริเวณมือหรือแขน โดยสาเหตุของการเกิดอาการเช่นนี้ก็คือการนั่งหลังค่อม นั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน 

เช่นการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานติดต่อกัน 6 ชั่วโมง โดยที่ไม่มีการเคลื่อนไหวที่เพียงพอ ซึ่งบางคนอาจมีอาการหนักถึงขั้นหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้ ข้อมือที่ถูกกดหรือบิดเอียงไปจากแนวธรรมชาติจากการพิมพ์งานหรือใช้คีย์บอร์ดนาน ๆ

และนอกจากท่านั่งแล้ว ความเครียดที่เกิดจากการทำงานและสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ไม่เหมาะสมก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสริมด้วย โดยอาการออฟฟิศซินโดรมมักเกิดขึ้นกับกลุ่มของพนักงานบริษัทที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการทำงาน หรือประกอบกับปัญหาด้านกระดูกและกล้ามเนื้อที่มีอยู่เดิมด้วย

อาการของออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง?

- มีอาการเจ็บ ปวด หรือตึงกล้ามเนื้อตามร่างกายแบบเฉพาะส่วนเป็นวงกว้าง เช่นบริเวณ คอ บ่า ไหล่ สะบัก และเอว เป็นต้น โดยความรุนแรงก็มีระดับที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ปวดเพียงเล็กน้อย หรือปวดแบบทรมานมาก

 

- หรือรู้สึกมึนงง วูบ หรือเหงื่อออก

 

- บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นยกแขนไม่ขึ้น มือหรือแขนเกิดอาการชา

- มีอาการปวดศรีษะร่วม ซึ่งมักเกินจากอาการเครียดสะสม หรือเดินทางบ่อยจนเกินไป เป็นต้น

- มีอาการตาพร่ามัว ปวดตา จากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

- มีอาการเหนื่อยล้าหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าจากภาวะการทำงานที่กดดันหรือทำงานหนักเกินไป

อาการของออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับด้วยกัน โดยเริ่มแรกอาจมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานเป็นประจำเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมงแล้วหายไป ตามมาด้วยระดับ

ระดับที่ 2 ที่มักมีอาการปวดเมื่อย อ่อนล้า หลังจากที่ทำงานไปเพียงประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่หายไป และเริ่มส่งผลต่อการนอนหลับของผู้ป่วย ส่วนระดับที่ 3 คือผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด เจ็บ ชา หรืออ่อนแรงที่มากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นแทบจะตลอดเวลา

 

สาเหตุของการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม

- การใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมที่มากเกินไป ติดต่อเป็นเวลานาน 6 ชั่วโมง จนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการกล้ามเนื้อบาดเจ็บเฉียบพลัน

- การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว เลือดไม่ไหลเวียน

 

- ที่ทำงานไม่มีแสงสว่างที่เพียงพอสำหรับการทำงาน มีเสียงดังรบกวน รวมไปถึงอุณหภูมิและอุปกรณ์เช่นเก้าอี้หรือโต๊ะสำหรับทำงานที่ไม่เหมาะสม

การป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม

การป้องกันอาการของออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) นั้นเริ่มจากพฤติกรรมของตัวคุณเอง เริ่มตั้งแต่การปรับท่านั่งให้เหมาะสม ไม่นั่งไหล่ห่อ หลังงอ และนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยให้นั่งตัวตรง ไม่ปล่อยให้นั่งตามสบายจนเกินไป เพราะจะส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลังได้ในระยะยาว การมีแสงที่เพียงพอสำหรับการทำงาน จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการทำงาน 

การใช้เก้าอี้สุขภาพสำหรับนั่งทำงาน มีหมอนไว้สำหรับรองหลังและรองคอ เจลสำหรับรองข้อมือ และที่สำคัญก็คือให้ตัวเองได้พักจากการนั่งทำงานในทุก ๆ 30 - 45 นาทีด้วยการลุกขึ้นยืน ขยับร่างกาย ยืดกล้ามเนื้อ เดิน เป็นต้น ประกอบกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพยายามลดความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงานด้วย

การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

อย่างไรก็ตาม หากคุณมีเริ่มรู้สึกว่ามีอาการของออฟฟิศซินโดรมที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แนะนำให้ปรึกษาวิธีการรักษาที่ถูกต้องได้กับนักกายภาพบำบัดที่มีความรู้และมีประสบการณ์ อย่างที่ พีซ คลินิกกายภาพบำบัด (Peace Clinic) ของเราที่ให้บริการด้านกายภาพบำบัดในราคาที่ไม่แพง ช่วยรักษาอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรมได้ ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดที่บริเวณคอ บ่า ไหล่ หลัง กล้ามเนื้ออักเสบ แขนขามีอาการชา หรืออาการรุนแรงอย่างเช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นต้น หากสนใจสามารถติดต่อเราเพื่อปรึกษากับนักกายภาพบำบัดโดยตรงได้ที่ พีซ คลินิกกายภาพบำบัด